ธุรกิจ แฟตเตอร์ริ่ง
เพื่อนคุณการบัญชี มีลูกค้ารายใหม่มีการซื้อขายสิทธ์ ด้วยหรือนี่ ถ้างั้น ผมมีวิธีการลงบัญชีมาฝาก ครับผม
1. การซื้อขายบัญชีลูกหนี้ มีเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจดังนี้
1.1 การซื้อขายลูกหนี้ เป็นการซื้อขายสิทธิเรียกร้องในหนี้สินที่พึงมีพึงได้ จึงไม่ถือเป็นการขายสินค้า หรือการให้บริการ จึงกล่าวได้ว่าเป็นการซื้อสินทรัพย์ตัวหนึ่ง
1.2 เมื่อไม่ได้เป็นการซื้อขายสินค้า และการให้บริการ การซื้อขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ จึงไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มมาเกี่ยวข้อง
1.3 และก็จะไม่มีภาระภาษีหัก ณ ที่จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง เนื่องจากการซื้อสิทธิเรียกร้องในหนี้ ก็ไม่เข้าข่ายเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 ( ) ใดๆ เมื่อจ่ายเงินซื้อก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายครับ
2. มาดูทีละคำถามกันต่อครับ
2.1 ลูกหนี้ 5 ล้านแต่จ่ายซื้อเพียง 3 ล้าน บันทึกอย่างไร
- ทางด้านผู้ซื้อ ก็จะบันทึกซื้อตามมูลค่าที่จ่ายจริง บันทึกบัญชีโดย
Dr. สิทธิเรียกร้องในหนี้ ( สินทรัพย์ ) 3,000,000
Cr. ธนาคาร 3,000,000
- ทางด้านผู้ขาย ก็จะบันทึกขายตามมูลค่าที่ได้รับจริง ส่วนผลต่างก็บันทึกเป็นรายจ่าย ซี่งไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ทวิและ มาตรา 65 ตรี บันทึกบัญชีโดย
Dr. ธนาคาร 3,000,000
Dr. ขาดทุนจากการขายสิทธิเรียกร้องในหนี้ 2,000,000 ( เป็นรายจ่ายในทางภาษีได้ไม่ต้องห้าม )
Cr. ลูกหนี้การค้า 5,000,000
คำเตือน - สำหรับผู้ที่ขายลูกหนี้การค้าในกิจการของตน ทางเจ้าพนักงานสรรพากร อาจใช้อำนาจประเมินในการที่คุณขายบัญชีลูกหนี้ต่ำกว่าราคาตลาด โดยมีเหตุอันสมควรหรือไม่ หากจะขายจึงควรเตรียมชี้แจงเหตุผลว่าทำไม่ต้องขายลูกหนี้จากราคาทุน 5 ล้านในราคา 3 ล้านบาท มิฉะนั้นท่านก็จะต้องถูกประเมิน ซึ่งเป็นเรื่องของดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ล้วนๆ
2.2 เมื่อเก็บเงินจากลูกหนี้ได้ บันทึกอย่างไร
- ในกรณีที่เก็บเงินได้มากกว่า 3 ล้าน ก็จะถือว่าส่วนเกินเป็นรายได้อื่น บันทึกบัญชีโดย
Dr. ธนาคาร 4,000,000
Cr. สิทธิเรียกร้องในหนี้ ( สินทรัพย์ ) 3,000,000
Cr. รายได้อื่น 1,000,000
- ในกรณีที่เก็บเงินได้พอดีกับมูลค่าที่ซื้อมา บันทึกบัญชีโดย
Dr. ธนาคาร 3,000,000
Cr. สิทธิเรียกร้องในหนี้ ( สินทรัพย์ ) 3,000,000
- ในกรณีที่เก็บเงินได้น้อยกว่า มูลค่าที่ซื้อมา ก็จะบันทึกบัญชีโดย
Dr. ธนาคาร 2,000,000
Dr. ขาดทุนจากการเรียกเก็บสิทธิเรียกร้องในหนี้ 1,000,000
Cr. สิทธิเรียกร้องในหนี้ ( สินทรัพย์ ) 3,000,000
2.3 เมื่อเก็บเงินไม่ได้ จะทำอย่างไรได้บ้าง
ในกรณีที่เรียกเก็บเงินไม่ได้เลย ต้องให้แน่ใจแล้วว่าไม่สามารถเรียกเก็บหนี้นั้นได้อีกแล้ว ก็ให้บันทึกตัดเป็นรายจ่ายทั้งจำนวนในปีที่ไม่สามารถเรียกเก็บหนี้นั้นได้แล้ว โดยไม่ถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม เพราะเนื่องจากเป็นรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการ จะบันทึกบัญชีโดย
Dr. ขาดทุนจากการเรียกเก็บสิทธิเรียกร้องในหนี้ 3,000,000
Cr. สิทธิเรียกร้องในหนี้ ( สินทรัพย์ ) 3,000,000
2.4 ตัดหนี้สูญได้ไหม
ไม่สามารถตัดหนี้สูญได้ครับ เนื่องจากการตัดหนี้สูญ จะต้องเกิดจากลูกหนี้การค้า ซึ่งเป็นลูกหนี้ที่เกิดจากรายการค้าตามปกติของกิจการ แต่ในกรณีที่ซื้อขายลูกหนี้นั้น จะไม่ถือเป็นลูกค้าการค้าของกิจการ หากแต่เป็นสิทธิเรียกร้องในหนี้ จึงไม่สามารถตัดหนี้สูญได้ครับ และก็ไม่ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 186 (พ.ศ. 2534) เรื่องการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้