1.ชื่อโครงการ สำนักงานบัญชี แฟรนไชส์ เพื่อนคุณการบัญชี
2.เจ้าของโครงการ บริษัท เพื่อนคุณการบัญชี จำกัด
3.หลักการและเหตุผล
ปัจจุบันโลกมีวิวัฒนาการมากโดยเฉพาะระบบการสื่อสาร สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็วและมีความน่าสนใจมากขึ้น แต่การพัฒนาความรู้ ความชำนาญเฉพาะทางมักมีขีดจำกัด ยังขยายตัวไม่ทั่วถึงเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจยังไม่สามารถกระจายตัวอย่างตัวเต็มที่ จึงต้องอาศัย ความชำนาญเฉพาะทางของคนที่จำกัดโดยเฉพาะงานด้านบัญชี ที่มีมาตรฐานกำหนดเป็นการเฉพาะไว้ การไม่เข้าใจมาตรฐานการบัญชี ความใหม่ต่อระบบสากล หรือแม้แต่การเข้าถึงได้ยากสำหรับผู้ที่ห่างไกล ทำให้ในการจัดทำบัญชีส่วนใหญ่มักเป็นไปตามความเข้าใจที่อาจผิดตามๆกัน การทำบัญชีบางส่วนในปัจจุบันเพียงหวังให้ยื่นภาษีต่อกรมสรรพากรเท่านั้น ดังนั้น หากมีการรวมตัวกันของนักบัญชีให้มีมาตรฐานในองค์กรหนึ่งๆก็อาจจะทำให้มีแนวทางการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานการบันทึกบัญชีได้ง่ายขึ้น ระบบแฟรนไชส์ของบริษัท เพื่อนคุณการบัญชี จำกัด ขอเป็นส่วนหนึ่งในการระดมนักบัญชีที่อยู่ในองค์กรต่างๆเข้ามาเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยจะทำการพัฒนาระบบการจัดการอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับสิ่งใหม่ๆที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นให้นักบัญชีได้มีการพัฒนาตนเองและมีแนวทางปฏิบัติงานให้เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีได้อย่างถูกต้อง รวมถึงระบบการจัดเก็บรายได้ค่าบริการให้มีมาตรฐานมากขึ้น
4.วัตถุประสงค์
4.1 เพื่อให้บุคคลทั่วไปมีส่วนร่วมในการสร้างรายได้ในธุรกิจสำนักงานบัญชี โดยไม่จำกัดเฉพาะนักบัญชีเท่านั้น
4.2 เพื่อขยายรูปแบบของสำนักงานบัญชีให้มีความหลากหลายเข้าถึงง่ายและทันสมัย
4.3 เพื่อสร้างยี่ห้อ รูปแบบการจัดการ ที่เป็นมาตรฐาน และ มีความมั่นใจในการใช้บริการ ซึ่งเป็นชื่อกลางๆเข้าใจได้ง่าย
4.4 เพื่อขยายงานตอบสนองความต้องการด้านบัญชี ที่ปรึกษาด้านภาษี สู่ชุมชน มากยิ่งขึ้น
4.5 เพื่อระดม นักบัญชี องค์กรสำนักงานบัญชี ให้เป็นเครือข่ายภายใต้ ยี่ห้อเดียวกัน
4.6 เพื่อกำหนดราคากลางมาตรฐานในการให้บริการด้านบัญชียกระดับ วิชาชีพการบัญชี ให้มีความเป็นสากลและมีมาตรฐานมากขึ้น
5.กลุ่มเป้าหมาย
1.บุคคลทั่วไปที่มีหน้าร้าน สามารถมีเวลาในการจัดเก็บภาษีและประสานงานกับ แฟรนไชส์เซอร์ได้
2.สำนักงาน ทนายความ สำนักงาน ประกันภัย ธนาคาร ไปรษณีย์ และ องค์กรอื่นๆ ที่มีความสนใจ ในระบบของ แฟรนไชส์เซอร์ นี้
3.นักบัญชีทั่วไปที่มีความสนใจ แต่ไม่ต้องการทำบัญชี
4.บุคคลทั่วไปที่ชอบงานให้บริการลูกค้าพบปะผู้คน และ ต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
5.ผู้ที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการ
6.ลักษณะของระบบการดำเนินการ
บริษัท เพื่อนคุณการบัญชี จำกัด ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ แฟรนไชส์ซอร์ ” อีกฝ่ายหนึ่งผู้ที่ประสงค์จะเข้าร่วมโครงการกับสำนักงานแฟรนไชส์ จะเรียกว่า “แฟรนไชส์ซี “
แฟรนไชส์ซี จะเป็นลักษณะเจ้าของธุรกิจโดยใช้ยี่ห้อ และ โลโก้ เพื่อนคุณการบัญชีเดียวกัน หลังจากที่ได้เข้าร่วมกันแล้ว แฟรนไชส์ซอร์ จะต้องให้ความรู้อบรมทางด้านภาษี ด้านประกันสังคม ด้านการจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร และสำนักงานประกันสังคม รวมถึงด้านเทคนิคในการรับส่งเอกสารจัดส่งข้อมูลต่างๆ ประสานงานกับลูกค้า และระบบการรับส่งเอกสารระหว่าง แฟรนไชส์ซอร์ กับ แฟรนไชส์ซี โดยมีระบบดังต่อไปนี้
6.1 ระบบการจัดส่ง
6.1.1 จัดส่งเอกสาร จัดส่งเอกสารระหว่างกันทางไปรษณีย์ หรือระบบการขนส่งสาธารณะตามปกติ โดยจัดส่งกันทุกเดือนหลังจากที่มีการจัดเก็บภาษีแล้วเสร็จ
6.1.2 จัดส่งข้อมูล จัดส่งระบบข้อมูลรายงานงบการเงินผ่านระบบใน website www.pkbunchee.com เป็นระบบที่แสดงให้ทราบว่างบการเงินของลูกค้าได้ดำเนินการถึงขั้นตอนใดมีข้อบกพร่องอะไรบ้าง รวมถึงต้องการหลักฐานเกี่ยวกับการบันทึกบัญชีเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เป็นการสื่อสารระหว่างนักบัญชีมายังผู้ประกอบการโดยตรงผ่านทาง website ดังกล่าว
6.1.3 จัดส่งทางการเงิน แฟรนไชส์ซี จะเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการเงินของลูกค้าเพื่อจัดส่งให้กรมสรรพากร และ กระทรวงพาณิชย์ รวมถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้น ยังต้องชำระค่าบริการจัดทำบัญชี แก่ แฟรนไชส์ซอร์ ตามที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา
6.2 ระบบการสื่อสาร
ลูกค้าสามารถสื่อสารได้ทั้ง แฟรนไชส์ซอร์ แฟรนไชส์ซี นักบัญชี ผู้สอบบัญชี โดยผ่านระบบสาธารณูปโภคทั่วไป อาทิ อินเตอร์เน็ท โทรศัพท์ เป็นต้น
7. ขั้นตอนการดำเนินงานและระยะเวลาที่สำคัญ
7.1 แฟรนไชส์ซี ต้องโทรนัดรับเอกสารลูกค้า ไม่เกินสิ้นเดือนของทุกเดือน หรืออย่างช้า ไม่ควรเกินวันที่ 2 ของเดือนถัดไปจากเดือนเอกสารทางบัญชี
7.2 แฟรนไชส์ซี ต้องทำแบบภาษี หัก ณ ที่จ่าย แบบแสดงภาษี และแบบประกันสังคม โดยให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนดยื่นภาษี ไม่น้อยกว่า 2 วัน และรีบแจ้งลูกค้าเพื่อเรียกเก็บเงินมาชำระให้แล้วเสร็จ ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
7.3 แฟรนไชส์ซี ต้องนำส่งแบบภาษีและแบบแสดงรายการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรับบริการแทนลูกค้า ภายกำหนดของหน่วยงานนั้นๆที่กำหนด
7.4 แฟรนไชส์ซี ต้องส่งเอกสารมายัง แฟรนไชส์ซอร์ เพื่อดำเนินการด้านบัญชีต่อไป พร้อมนำส่งค่าจ้างทำบัญชีหลังจากที่ หัก รายได้ในส่วนของแฟรนไชส์ซีแล้ว มายัง เฟรนไชส์ซอร์ พร้อมกับเอกสารทางบัญชีของเดือนบัญชีนั้นๆ
7.5 ค่าใช้จ่ายในการคิดค่าบริการด้านบัญชี เพื่อความเป็นมาตรฐานเดียวกัน ให้ใช้ตาม โปรแกรมคำนวณค่าบริการบัญชี (โปรแกรมที่แฟรนไชส์ซอร์พัฒนาขึ้น) เป็นเกณฑ์ โดยให้ยึดข้อมูลทางบัญชีของปีที่ผ่านมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดค่าบริการทำบัญชีของปีถัดไป
7.6 แฟรนไชส์ซี จะจ้างทำบัญชี ต้องเป็น แฟรนไชส์ซอร์ โดยตรง และ สำนักงานในเครืออื่นๆ หรือ บุคคล ตามที่ แฟรนไชส์ซอร์ ได้ประกาศกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น
7.7 แฟรนไชส์ซี จะต้องร่วมประเมินค่าบริการด้านบัญชีของปีถัดไป จากรูปแบบ ตามมาตรฐานที่ แฟรนไชส์เซอร์ กำหนดไว้
8. ความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก
8.1 แฟรนไชส์เซอร์ จะรับผิดชอบตามกฎหมายว่าด้วยมาตรฐานการบัญชี
8.2 แฟรนไชส์ซี จะรับผิดชอบเกี่ยวกับจำนวนเงินภาษีและเงินต่างๆที่ได้รับมาจากลูกค้า เพื่อดำเนินการให้เสร็จลุล่วงแทนลูกค้า รวมถึงเป็นตัวแทนติดตาม ประสานงานระหว่างนักบัญชีและลูกค้าให้แล้วสำเร็จตามวัตถุประสงค์ของงานที่รับบริการจากลูกค้า
9. รูปแบบโลโก้ หรือ ยี่ห้อ ลักษณะคล้าย คนดูแลอย่างใกล้ชิด และ รูปหนังสือ อยู่ในวงกลมประกอบด้วย สีแดง สีน้ำเงิน สีขาว สีแสด และสีชมพู หมายถึง การให้ความรู้ การเอาใจใส่ และความร่วมมือกัน
10.บทสรุประบบ
แฟรนไชส์ซี เป็นผู้เปิดกิจการรับทำบัญชี โดยจ้าง แฟรนไชส์เซอร์ เป็นผู้ร่วมจัดทำบัญชี ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานที่ แฟรนไชส์เซอร์ กำหนด ซึ่งแฟรนไชส์ซี ไม่ต้องมีความรู้ด้านบัญชีก็ได้ เพราะไม่ได้ทำบัญชีโดยตรง แต่อาจจะต้องได้รับการฝึกอบรมบัญชีให้ทราบเบื้องต้น ผู้ที่จะทำบัญชีคือ นักบัญชีที่มีใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการบัญชี รวมถึงคุณสมบัติตามที่ แฟรนไชส์เซอร์ กำหนด แต่อย่างไรก็ตาม แฟรนไชส์ซี ต้องมีความรู้ด้านภาษี ประกันสังคม โดยต้องเข้ารับการฝึกอบรมจาก แฟรนไชส์เซอร์