pkbunchee.com



แจกเช็คช่วยชาติ3รูปแบบ

บทความนี้เขียนโดย kuk
เมื่อ 24 มีนาคม 2552 12:50:36

“ไพฑูรย์” ชี้ สปส.พร้อมแล้ว แจกเช็คช่วยชาติ 3 รูปแบบ
 
ขยายเวลารับเช็คถึง 2 ทุ่ม ระบุเร่งสร้างงาน-จับคู่นายจ้าง ลูกจ้าง หลังยอดลาออกไปตายดาบหน้าพุ่งสูงกว่าเลิกจ้าง 3 เท่าตัว ด้าน “พาณิชย์” ผนึก 3 กระทรวง จัดงาน “ไทยรวมพลังกู้เศรษฐกิจชาติ” อิมแพค เมืองทองธานี 3-9 เม.ย.นี้ ดึง “มาร์ค” เปิดมหกรรมขายของถูก พร้อมแจกคูปองแทนเงินสด 200 บาท ประกบเช็คช่วยชาติกระตุ้นยอดใช้จ่าย พ่วงเปิดตลาดดัดแรงงาน คาดคนชมเกินล้าน เงินสะพัด 3 พันล้านบาท ขณะที่ “รัฐ” แบ่งเค้กงบลงทุน 1.4 ล้านล้าน ให้เอกชนร่วมทุน 3 แสนล้านหวังลดรายจ่าย เพิ่มประ สิทธิภาพการดำเนินงาน


เมื่อวันที่ 23 มี.ค.นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เปิดเผยว่า
 
ที่ประชุมคณะกรรมการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน (พับบลิค ไพรเวท พาร์ท เนอร์ชิป) หรือพีพีพี
ได้เห็นชอบให้ปรับเพิ่มวงเงินลงทุนในโครงการต่าง ๆ ตามแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ที่ต้องดำเนินการในลักษณะร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็น 18-19% หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ของโครง การที่รัฐจะลงทุนวงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ใน 3 ปี จากเดิมที่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 5% หรือประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาท เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานมากขึ้น


นอกจากนี้ให้ขยายกรอบของโครงการ ลงทุนให้ครอบคลุมโครงการเชิงสังคมด้วย

เช่น   การสร้างหอพักให้ตำรวจ เป็นต้น นอกเหนือจากเดิมที่กำหนดไว้เฉพาะโครงการที่เป็นการให้บริการประชาชนและมีผลตอบแทนเป็นรายได้กลับคืนมา หรือโครงการด้านพาณิชย์ เช่น โครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ โครงการด้านโทรคมนาคม เท่านั้น และกำหนดให้คณะกรรมการพีพีพี เป็น    ผู้กำหนดว่าโครงการใดจะเข้าสู่หลักเกณฑ์ของ   การเป็นพีพีพี หรือเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายร่วมทุนฯ หรือกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เพราะที่ผ่านมาไม่มีหน่วยงานกลางที่ชัด เจนเพื่อเข้ามาดำเนินการตามกรอบกฎหมายร่วมทุนฯ
  
“ตามหลักเกณฑ์แล้วโครงการใดที่ลงทุนเกินกว่า 1 พันล้านบาท และเป็นโครงการที่เข้าร่วมกับภาคเอกชน ต้องดำเนินการตามกรอบ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ แต่ก็มีหลายโครงการที่ไม่ได้เข้าสู่กระบวนการร่วมทุนฯ เช่น โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนขนาดใหญ่หรือไอพีพี เป็นต้น เนื่องจากโครงการเหล่านี้ไม่ได้ลงทุนในทรัพย์สินของรัฐบาล”
 
ที่กระทรวงพาณิชย์ วันเดียวกัน นาง พรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า

กระ ทรวงพาณิชย์จะเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับ 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม จัดงานไทยรวมพลังกู้เศรษฐกิจชาติ ระหว่างวันที่ 3-9 เม.ย. นี้ ที่อาคารชาเลนเจอร์ ฮอลล์ 2-3 เมืองทองธานี โดยเชิญนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน
เพื่อช่วยเหลือลดค่าครองชีพ และสร้างรายได้ให้คนไทยครั้งใหญ่ ทั้งนี้ภายในงานจะมีการจัดบลู โซน สินค้าราคาประหยัด เพื่อจำหน่ายสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ความงามและสุขภาพ กลุ่มสินค้าแฟชั่น กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์ ของแต่งบ้าน กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ส่งออกจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ราคาลดพิเศษ 30-40% กว่า 1,500 คูหา
 
นอกจากนี้มีการจัดตลาดนัดรับสมัคร งานหลายอาชีพ บริการจากสถาบันการเงินของรัฐบาลในด้านสินเชื่อต่าง ๆ ทั้งสินเชื่อบุคคล  บริการบัตรเครดิต บริการธนาคารประชาชน สินเชื่อที่อยู่อาศัยพร้อมสินทรัพย์ และโครงการ อสังหาริมทรัพย์ บ้าน คอนโด มือสอง มาลดกระหน่ำพิเศษ “การร่วมมือกันครั้งนี้ เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบถึงประชาชน
โดยตั้งเป้าหมายว่า ตลอด 7 วันของการจัดงาน จะมีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1 ล้านคน และก่อให้เกิดการซื้อขาย 2-3 พันล้านบาท และคาดว่าจะทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจากการจัดงานครั้งนี้อีก 3 เท่าตัว หรือมีเงินหมุนเวียนนับหมื่นล้านบาท”
 
นางพรทิวา กล่าวต่อว่า
 
สินค้า และบริการที่เป็นไฮไลต์ของงาน ได้แก่ การแจกคูปองแทนเงินสด 200 บาท ให้ประชาชนที่ได้รับเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท นำไปซื้อของในงานเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย โดยจะแจกรวม 2,000 ใบตลอด 7 วัน ซึ่งผู้มีสิทธิรับบัตรต้องนำสลิปเงิน เดือนมาขอรับคูปองด้วยตัวเอง นอกจากนี้จะมี การจัดให้มีบริการรถแท็กซี่ธงฟ้า รับส่งประชาชน  ภายในงานฟรี โดยมีแท็กซี่ตอบรับเข้าร่วมโครงการแล้ว 2,000 คัน และยังมีการจัดกิจกรรมนาทีทองลดราคาสินค้าราคาพิเศษ เช่น กางเกงยีนตัวละ 20 บาท ข้าวถุง 10 บาท หมวกกันน็อก 100 บาท   
 
ที่กระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงความพร้อมในการแจกจ่ายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ให้กับผู้ประกันตน ที่จะเริ่มดำเนินการวันที่ 26 มี.ค.เป็นวันแรก ว่า

ขณะนี้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้เตรียมการแจกจ่ายเช็คช่วยชาติไว้พร้อมแล้ว โดยจะดำเนินการจ่าย 3 รูปแบบ คือ

1.จ่ายให้กับสถานประกอบการ จำนวน 7,500 แห่ง
2.จ่าย ณ ที่ว่าการอำเภอ 800 แห่ง และ
3.จ่าย ณ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่และสำนักงานประกันสังคมจังหวัด รวมถึงศูนย์การค้า
นอกจากนี้ตนได้สั่งการให้ สปส.เปิดบริการจ่ายเช็คให้กับผู้ประกันตนนอกเวลาราชการในวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วย
 
สำหรับในวันจันทร์-ศุกร์นั้น ทาง สปส.  ขยายเวลาทำการในการรับเช็คถึงเวลา 20.00 น. เนื่องจากไม่อยากให้ลูกจ้างต้องหยุดงานแล้วเดินทางมารับเช็ค โดยกระทรวงแรงงานจะมีการจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว จำนวน 60 ชุด เพื่อจัดส่งเช็คให้ถึงมือผู้ประกันตนตามที่ร้องขอ โดยเบื้องต้นต้องเป็นสถานประกอบการที่มีผู้มีสิทธิรับเช็คจำนวน 200 คนขึ้นไป สามารถแจ้งความจำนงได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 0-2526-1959 ส่วนที่เกรงว่าอาจมีนายจ้างบางคนหักค่าหัวคิวในการจ่ายเช็คนั้น ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เตรียมการป้องกันตั้งแต่แรกอยู่แล้ว โดยจะให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงแรงงานเป็นผู้ดำเนินการแจกจ่ายเช็คเองทั้งหมด 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า

วันนี้ (24 มี.ค.) นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม หรือ สปส. กล่าวว่า ขณะนี้ สปส. มีความพร้อมเต็มร้อยในการเตรียมจ่ายเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท ให้ถึงมือผู้ประกันตนรอบแรก จำนวน 5,547,000 คน โดยวันนี้ทางธนาคารกรุงเทพ
ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์เช็ค จะจัดส่งเช็คไปยังธนาคารสาขาต่างจังหวัด และ สปส.จะเข้าไปตรวจรับเช็คในวันที่ 25 มี.ค.นี้ ก่อนที่จะเริ่มจ่ายเช็ครอบแรกให้ถึงมือประชาชน ช่วงวันที่ 26 มี.ค. - 1 เม.ย.

ส่วนการเตรียมความพร้อมในการจ่ายเช็ครอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 มี.ค. - 5 เม.ย. และรอบที่ 3 ในช่วงระหว่างวันที่ 3 - 8 เม.ย.นี้ เป็นไปอย่างเรียบร้อย และมั่นใจว่าจะจัดส่งเช็คถึงมือผู้ประกันตนครบทั้ง 3 รอบ ไม่เกินวันที่ 8 เม.ย.นี้ ด้านการดูแลความปลอดภัย มีการประสานงานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างรัดกุม 

 
นายไพฑูรย์ กล่าวต่อว่า

ทางกระทรวงแรงงานเป็นห่วงสถานการณ์การลาออกของบรรดาแรงงาน ที่พบว่า ขณะนี้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีมากกว่าแรงงานที่ถูกปลดออกจากงานถึง 3 เท่า เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย จึงต้องหนีไปตายเอาดาบหน้า ซึ่งข้อมูลล่าสุดในปี 51 พบว่า
มีแรงงานที่ขอลาออกจากงานเนื่องจากรายได้ไม่พอมากถึง 2.9 แสนคน ขณะที่แรงงานที่ถูกปลดมีเพียง 9.3 หมื่นคน เพราะหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจบรรดาผู้ประกอบการต่างปรับลดค่าจ้าง ลดเงินเดือน และ ยกเลิกการทำงานล่วงเวลาหรือโอที ทำให้คนที่มีรายได้น้อยไม่พอค่าใช้จ่าย จึงต้องตัดสินใจลาออก จากงาน
 
ซึ่งตามกฎหมายแล้วคนที่ลาออกจากงานจะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐด้วยการจ่ายค่าเงินประกันว่างงานเพียง 30% ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย เป็นเวลา 3 เดือน เท่านั้น ขณะที่คนที่ถูกให้ออกจากงานจะได้รับเงินค่าประกันการว่างงานในอัตรา 50% ของเงินเดือนเป็นเวลา 8 เดือน แม้ว่านายจ้างเองไม่ต้องการให้ลาออก เพราะไม่ต้องการเสียเวลาในการฝึกอบรมแรงงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานเองได้เร่งแก้ไขด้วยการจัดงานตลาดนัดพบแรงงาน การจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหา การว่างงานแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อจับคู่ระหว่างนายจ้างและแรงงาน รวมทั้งประสานงานกับโครงการต้นกล้าอาชีพ เพื่อฝึกอบรมแรงงานแล้วกลับไปทำงานในภูมิลำเนาต่อไป.

 

 

 

 

เครดิตเวป   http://tnews.teenee.com/etc/33629.html



แสดงความคิดเห็น

ชื่อ

ความคิดเห็น